Sunday, November 21, 2010

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ จอง พีอาเจต์

                จิตวิทยาพัฒนาการ(Developmental Psychology) เป็นการค้นคว้าถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ ตังแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงวัยชรา รวมทั้งอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการและลักษณะความต้องการ ความสนใจของคนในวัยต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งเป็นจิตวิทยาเด็กจิตวิทยาวัยรุ่น และจิตวิทยาวัยผู้ใหญ่
ทฤษฎีพัฒนาการเชาน์ปัญญาของเพียเจต์               
             เพียเจต์เชื่อว่าคนเราทุกคนตั้งแต่เกิดมาพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและโดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นผู้พร้อมที่ จะมีกริยากรรมหรือเริ่มกระทำก่อน (Active) นอกจากนี้เพียเจต์ถือว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด 2 ชนิด คือ การจัดและรวบรวม(Oganization) และ การปรับตัว(Adaptation) ซึ่งอธิบายดังต่อไปนี้
1. การจัดและรวบรวม (Oganization) หมายถึง การจัดและรวบรวมกระบวนการต่างๆภายใน เข้าเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นระเบียบ แและมีการปรับปรุงเปลียนแปลงอยู่ตลอดเวลาตราบที่ ยังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
2. การปรับตัว (Adaptation) หมายถึง การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่ออยู่ในสภาพสมดุล การปรับตัวประกอบด้วยกระบวนการ 2 อย่าง คือ
2.1   การซึมซาบหรือดูดซึม (Assimilation)  เมื่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมก็จะซึมซาบหรือดูดซึมประสบการณ์ใหม่ ให้รวมเข้าอยู่ในโครงสร้างของสติปัญญา(Cognitive Structure) โดยจะเป็นการตีความ หรือการรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม
2.2    การปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accomodation)   หมายถึง การเปลี่ยนแบบโครงสร้างของเชาว์ปัญญาที่มีอยู่แล้วให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ใหม่ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดเดิมให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งเป็นความสามารถในการปรับโครงสร้างทางปัญญา               
เพียเจต์ยังกล่าวอีกว่าว่า ระหว่างระยะเวลาตั้งแต่ทารกจนถึงวัยรุ่น คนเราจะค่อยๆสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นตามลำดับขั้น โดยเพียเจต์ได้แบ่ง ลำดับขั้นของพัฒนาการเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ ไว้ 4 ขั้น ซึ่งเป็นขั้นพัฒนาการเชาวน์ปัญญา ดังนี้
                1. ขั้นใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (sensorimotor period) อายุ 0- 2 ปีเป็นขั้นพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาก่อนระยะเวลาที่เด็กจะพูดเป็นภาษาได้การแสดงถึงความคิดและสติปัญญาของเด็กวัยนี้จะเป็นในลักษณะของการกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของปฏิกิริยาสะท้อน เช่น การดูด การมอง การไขว่คว้ามีพฤติกรรมน้อยมากที่แสดงออกถึงความเข้าใจ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อมได้ตัวตนของเด็กยังไม่ได้พัฒนาจนกว่าเด็กจะได้รับประสบการณ์ ทำให้ได้พัฒนาตัวตนขึ้นมาแล้วเด็กจึงสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้จนกระทั่งเด็กอายุประมาณ 18 เดือน จึงจะเริ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองได้บ้างและรับรู้เท่าที่สายตามองเห็น        
                2. ขั้นเริ่มมีความคิดความเข้าใจ (
pre-operational period) อายุ 2-7 ปีเด็กวัยนี้เป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียนและวัยอนุบาล ยังไม่สามารถใช้สติปัญญากระทำสิ่งต่าง ๆได้อย่างเต็มที่ ความคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถใช้เหตุผล อย่างลึกซึ้งได้วัยนี้เริ่มเรียนรู้การใช้ภาษา และสามารถใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ พัฒนาการวัยนี้แบ่งได้เป็น 2 ขั้นคือ

                               2.1 ขั้นกำหนดความคิดไว้ล่วงหน้า (
preconceptual thought) อายุ 2-4 ปีระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาด้านการใช้ภาษา รู้จักใช้คำสัมพันธ์กับสิ่งของ มีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้แต่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีเหตุผล คิดเอาแต่ใจตัวเอง อยู่ในโลกแห่งจินตนาการชอบเล่นบทบาทสมมติตามจินตนาการของตนเอง
                                2.2 ขั้นคิดเอาเอง (intuitive thought) อายุ 4-7 ปี ระยะนี้เด็กสามารถคิดอย่างมีเหตุผลขึ้นแต่การคิดยังเป็นลักษณะการรับรู้มากกว่าความเข้าใจ จะมีพัฒนาการรับรู้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้เป็นหมวดหมู่ ทั้งที่มีลักษณะคล้ายคลึงและแตกต่างกัน ลักษณะพิเศษของวัยนี้คือเชื่อตัวเองโดยไม่ยอมเปลี่ยนความคิด หรือเชื่อในเรื่องการทรงภาวะเดิมของวัตถุ (conservation) ซึ่งเพียเจท์เรียกว่าprinciple of invaiance     
                3. ขั้นใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลเชิงรูปธรรม (concrete operational period ) อายุ 7-11ปี ระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาอย่างรวดเร็วสามารถคิดอย่างมีเหตุผลแบ่งแยกสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ลำดับขั้น จัดเรียงขนาดสิ่งของ และเริ่มเข้าใจเรื่องการคงสภาพเดิมสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตมาแก้ปัญหาเหตุการณ์ใหม่ ๆ ได้ มีการถ่ายโยงการเรียนรู้(transferoflearning)แต่ปัญหาหรือเหตุการณ์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมส่วนปัญหาที่เป็นนามธรรมนั้นเด็กยังไม่สามารถแก้ได้

                4. ขั้นใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลเชิงนามธรรม (
formal operational period) อายุ 11-15 ปี ขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุดของพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดความคิดแบบเด็ก ๆ จะสิ้นสุดลงจะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่สามารถคิดแก้ปัญหาที่เป็นนามธรรมด้วยวิธีการหลากหลาย รู้จักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์สามารถตั้งสมมติฐานทดลองใช้เหตุผลและทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสลับซับซ้อนได้ เพียเจท์กล่าวว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่คิดเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบันสนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างและมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมนักจิตวิทยาเชื่อว่าการพัฒนาความเข้าใจจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา
                และเพียเจท์เชื่อว่าพัฒนาการของเชาวน์ปัญญามนุษย์จะดำเนินไปเป็นลำดับขั้น เปลี่ยนแปลงหรือข้ามขั้นไม่ได้



อ้างอิงจาก :



ศรีเรือน แก้วกังวาล.(2549).จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย:ทารก-วัยเด็กตอนกลาง(เล่ม 1).กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สุรางค์ โค้วตระกูล.(2550).จิตวิทยาการศึกษา.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ยุพดี ธรรมชาติ,ผศ.ธันยา สุคนธ์ และ ผศ.วาสนา จันทรัตน์.จิตวิทยาการเรียนการสอนและการแนะแนว.โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว.คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

No comments:

Post a Comment